ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทย โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล โดยทั้งนี้การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ของ จังหวัดยโสธร ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการประชาสัมพันธ์งานประเพณี เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทย และต่างประเทศ นับแต่ ปี 2515 ซึ่ง งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร จะจัดขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ที่สอง ของเดือนพฤษภาคม ในทุกปี โดยทั้งนี้ ในงานที่จัดของจังหวัดยโสธร ยังมีความโดดเด่น ในวันก่อนแห่ มีการประกวดกองเชียร์ จำนวนมาก รวมทั้ง วันแห่บั้งไฟ จะมีขบวนบั้งไฟแบบโบราณ และการรำเซิ้งแบบโบราณ จาก ทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดยโสธร เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่า การจัดงานบั้งไฟในอดีต และปัจจุบัน ในพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความโดดเด่น และเก่าแก่ มานาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะ ที่ อำเภอสุวรรณภูมิ ที่มีการจัดงาน ในทุกวันเสาร์ อาทิตย์ ในสัปดาห์แรก ของเดือนมิถุนายนในทุกปี ซึ่งเป็นงานที่มี บั้งไฟเอ้สวยงามขนาดใหญ่ (ลายศรีภูมิ หรือ ลายกรรไกรตัด) รวมทั้งขบวนรำสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ , อำเภอพนมไพร ที่ มีการจัดงาน ในทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของทุกปี ตามรูปแบบประเพณีดั้งเดิม ตาม ฮีตสองสอง คองสิบสี่ โดยมีการจุดบั้งไฟถวาย มากที่สุดในประเทศ โดยในแต่ละปี จะมีบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน รวมกันกว่า ๑,๐๐๐ บั้ง
ส่วนประกอบของบั้งไฟ
1. เลาบั้งไฟ เลาบั้งไฟคือส่วนประกอบที่ทำหน้าที่บรรจุดินปืน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมยาว มีความยาวประมาณ 1.5 - 7 เมตร ทำด้วยลำไม้ไผ่แล้วใช้ริ้วไม้ไผ่ (ตอก) ปิดเป็นเกลียวเชือกพันรอบเลาบั้งไฟอีกครั้งหนึ่งให้แน่น และใช้ดินปืนที่ชาวบ้านเรียกว่า"หมื่อ" อัดให้แน่นลงไปในเลาบั้งไฟ ด้วยวิธีใช้สากตำแล้วเจาะรูสายชนวน เสร็จแล้วนำเลาบั้งไฟ ไปมัดเข้ากับส่วนหางบั้งไฟ ในสมัยต่อมานิยมนำวัสดุอื่นมาใช้เป็นเลาบั้งไฟแทนไม้ไผ่ ได้แก่ ท่อเหล็ก ท่อพลาสติก เป็นต้น เรียกว่าเลาเหล็กซึ่งสามารถอัดดินปืนได้แน่นและมีประสิทธิภาพในการยิงได้สูงกว่า
2. หางบั้งไฟ หางบั้งไฟถือเป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่คล้ายหางเสือ ของเรือคือสร้างความสมดุลให้กับบั้งไฟคอยบังคับทิศทางบั้งไฟให้ยิงขึ้นไปในทิศทางตรงและสูง บั้งไฟแบบเดิมนั้น ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ต่อมาพัฒนาเป็นหางท่อนเหล็กและหางท่อนไม้ไผ่ติดกันหางท่อนเหล็กมีลักษณะเป็นท่อนกลม ทรงกระบอกมีความยาวประมาณ 8-12 เมตร ทำหน้าที่เป็นคานงัดยกลำตัวบั้งไฟชูโด่งชี้เอียงไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 30-40 องศากับพื้นดิน โดยบั้งไฟจะยื่นไปข้างหน้ายาวประมาณ 7-8 เมตร ปลายหางด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งบั้งไฟ
3. ลูกบั้งไฟ เป็นลำไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเลาบั้งไฟโดยมัดรอบลำบั้งไฟ บั้งไฟลำหนึ่งจะประกอบด้วยลูกบั้งไฟประมาณ 8-15 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ เดิมลูกบั้งไฟมีแปดลูกมีชื่อเรียกเรียงตามลำดับคู่ขนาดใหญ่ไปหาคู่ที่มีขนาดเล็กกว่าได้แก่ ลูกโอ้ ลูกกลาง ลูกนางและลูกก้อย ลูกบั้งไฟช่วยให้รูปทรงของบั้งไฟกลมเรียวสวยงาม นอกจากนี้ลูกบั้งไฟยังเป็นพื้นผิวรองรับการเอ้หรือการตกแต่งลวดลายปะติดกระดาษ ( โดยที่นิยมทั่วไป คือ ลายสับ ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่มีการกำหนดมาตรฐาน ลายกรรไกรตัด ในประเทศไทย คือ "ลายศรีภูมิ" พบมีการทำในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด )